Hot Topic!
พิรุธเพียบ โกง'กองทุนเสมา'แกะรอยเงินหาย 10 ปี เสาะธุรกรรมพิสูจน์ ขบวนการ
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 03,2018
- - สำนักข่าวเดลินิวส์ - -
อีกหนึ่งคดีทุจริตที่ต้องจับตา หลังกระทรวงศึกษาธิการออกมาเปิดเผยเรื่องราวงาบงบกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีนางรจนา สินที ข้าราชการซี 8 อดีตลูกหม้อของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวเอกเดินเรื่อง และตกเป็นข่าวต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ ก่อนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รับเรื่องและมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดนางรจนา พร้อมแจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหา
ป.ป.ท. สนธิกำลังกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบังคับ การปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยว กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) และตำรวจ สน.ดอนเมือง นำหมายค้นของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตรวจค้นบ้านเลขที่ 310/926-927 หมู่บ้านปิ่นเจริญ โครงการ 3 ถนนสรงประภา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม. ซึ่งเป็นบ้านพักของนางรจนา และนายสุวิชา สินที บุตรชาย เพื่อเก็บพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนมูลฟ้องหาความเชื่อมโยงคดี และหลักฐานอื่นอันเป็นเหตุสงสัยว่าใช้เพื่อกระทำความผิด
ผลการตรวจค้นพบแฟ้มเอกสารราชการจำนวนมากเก็บไว้ภายในบริเวณตู้เก็บเอกสารในโรงรถหน้าบ้าน แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ถึงกับผงะคือ เอกสารที่ถูกฉีกทำลายอยู่ในถุงขยะสีดำ 2 ถุง วางอยู่ด้านล่างเบาะหลังรถยนต์มิตซูบิชิ จี-แวกอน สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน ศส 6116 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดคลุมผ้าอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้าน
นอกจากนี้ ยังพบเอกสารที่ระบุประวัตินักเรียนที่ได้รับทุน สลิปเงิน สำเนาบัญชีธนาคาร รวมถึงเอกสารกองทุนเสมาฯ ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 40 ที่เบาะหลังรถและท้ายรถ เจ้าหน้าที่ได้อายัดไว้ตรวจสอบพร้อมคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์จำนวนหนึ่ง เนื่องจากพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ ปปง.เข้าตรวจสอบเอกสารเพื่อยืนยันเส้นทางการเงิน โดยมีประเด็นต้องสงสัยว่าอาจมีผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตของนางรจนา เพราะจากสภาพบ้านพักที่ค่อนข้างทรุดโทรมและภายในไม่ปรากฏทรัพย์สินมีค่าในบ้าน
ปฏิบัติการดังกล่าวซึ่งพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนวนมาก ประกอบกับนางรจนารับสารภาพว่ากระทำการทั้งหมดเพียงคนเดียว คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีมติให้ "ไล่ออก" นางรจนา หรือให้พ้นสภาพการ เป็นข้าราชการไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีกระทำการทุจริตยักยอกเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งเป็น กองทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียน ตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายให้กับระบบราชการเป็นเงินกว่า 118 ล้านบาท
แม้การสอบวินัยนางรจนาจะจบไปแล้ว แต่การสอบสวนเอาผิดทางอาญายังต้องดำเนินการต่อไป เพื่อขยายผลหาบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากกรณีของนางรจนามีเหตุ "ต้องสงสัย" หลายจุด โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเพียงข้าราชการระดับ 8 กลับสามารถใช้ช่องว่างทุจริตอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี จึงน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องในการทุจริต ที่สำคัญในคดีมีการอนุมัติทุนการศึกษาทำในรูปของคณะกรรมการ มีผู้ร่วมพิจารณาเป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงมีการทุจริตเพียงคนเดียว โดยไม่พบร่องรอยของผู้ร่วมพิจารณารับรู้เรื่องด้วย
หัวหน้าทีมที่นำกำลังเข้าตรวจค้น พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปคดี โดยเฉพาะบุคคลที่มีรายชื่อเปิดบัญชีรับโอนเงินให้กับนางรจนา เพราะพบพยานหลักฐานการกระทำความผิดครบถ้วนแล้ว ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งขยายผลคือความเชื่อมโยงถึงข้าราชการในระดับสูงกว่านางรจนา แต่จากการพูดคุยกับนางรจนาขณะสนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักร่วมกับการสังเกตสภาพความเป็นอยู่ที่บ้าน เชื่อว่านางรจนายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง คงต้องให้เวลาอีกระยะ
ส่วนแนวทางการสอบสวนอนุกรรมการไต่สวนจะเริ่มต้นจากงบประมาณปี 60 ที่ตำรวจสน.ดุสิต ส่งสำนวนมาให้ ป.ป.ท. ซึ่งในปีดังกล่าวมีการอนุมัติเงินงบประมาณ 23,702,000 บาท แต่เงินถูกโอนไปยังบัญชีบุคคลอื่นจำนวน 12,800,000 บาท
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี บอร์ดป.ป.ท. เผยเบื้องต้นพบว่านางรจนาได้เปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ รวม 22 บัญชี แต่ได้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นรวม 31 บัญชี ซึ่ง 22 บัญชีที่เปิดไว้เพื่อรับทุนในปี 60 มีการถอนเงินไปทั้งหมดเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และมีการแจ้ง "ปิดบัญชี" ไประหว่างที่กระทรวงศึกษาฯ เริ่มเข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ป.ป.ท.พบข้อบกพร่อง 3 ประเด็นที่ทำให้เกิดการทุจริต คือ 1.การไม่กำหนดตัวบุคคลที่จะรับทุน โดยพิจารณาอนุมัติทุนตามที่โรงเรียนร้องขอใน 4 กลุ่มโรงเรียน และไม่ระบุชื่อเจ้าของบัญชีและเลขที่บัญชีที่รับโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ 2.หลังอนุมัติทุนการศึกษาไม่มีการติดตามผลว่านักเรียนได้รับทุนหรือไม่ และ 3.กระทรวงศึกษาฯ ในฐานะผู้อนุมัติทุนหรือโรงเรียนผู้รับทุนมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตหรือไม่ เนื่องจากมีการทวงถามทุนการศึกษามายังกระทรวง แต่กระทรวงปฏิเสธว่าไม่มีทุน ในประเด็นนี้จะต้องตรวจสอบว่าใครรับเรื่องและปฏิเสธการจ่ายทุนทั้งที่ทุนการศึกษาได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแล้ว
"นางรจนาเป็นเพียงผู้ช่วยเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติทุน มีหน้าที่ในการจดบันทึกประชุมและวาระงบประมาณต่าง ๆ หลังจากมีการอนุมัติเงินทุนการศึกษาแล้วผู้มีอำนาจจะลงนามอนุมัติตามระดับชั้น ซึ่งปลัดกระทรวงหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายแทนจะเป็นผู้ลงนามในขั้นตอนสุดท้าย แต่ทำไมนางรจนาจึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเบิกจ่ายเงินคนเดียว ในส่วนนี้ยังมีความน่าสงสัย ซึ่งนางรจนาอาจมีความผิดทางแพ่งฐานละเมิดอีกด้วย" บอร์ด ป.ป.ท. กล่าว
เมื่อตรวจสอบไปถึงธุรกรรมการเงินของนางรจนา ระหว่างปี 51-61 พบว่า มีการโอนเงินจากกองทุนเสมาฯ เข้าบัญชีของสถานศึกษา จำนวน 173,009,510 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่น ๆ ซึ่งเป็นเครือญาตินางรจนา 22 บัญชี 89,993,372 บาท โดยแต่ละคนจะเปิดบัญชีตั้งแต่ 1-7 บัญชี ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเงินในปี 60 ปรากฏชื่อนายวิโรจน์ (สงวนนามสกุล) เปิดบัญชีสูงสุด 7 บัญชี รับโอนเงินและพักเงินไว้ตั้งแต่หลักแสนบาทจน ถึงหลักล้านบาท รวมทั้งหมด 7 ล้านบาท ขณะที่มีชื่อน.ส.สุพิชฌาย์ (สงวนนามสกุล) รับโอนเงิน 2 บัญชี จำนวนเงิน 1.8 ล้านบาท และนายฉลอง (สงวนนามสกุล) รับโอนเงิน 1 บัญชี รวม 1.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีรายอื่น ๆ รับโอนเงินตั้งแต่ 55,000-800,000 บาท รวมมีบัญชีของบุคคล 10 ราย ที่รับเงิน 18 บัญชี ทำรายการโอนเงินทั้งหมด 52 รายการ จำนวนเงินที่โอนรวมทั้งหมด 12.8 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ทำธุรกรรมการเงินโดยหลบเลี่ยงการรายงานธุรกรรมต้องสงสัยตามกฎหมายฟอกเงินกับ ปปง.
จากรายงานธุรกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเส้นทาง การเงิน ทำให้จากนี้ต้องจับตาไปที่การขยายผลสืบทรัพย์ของ ปปง. เพื่อให้เห็นว่าสุดท้ายเงินที่ทุจริตไปทั้งหมด ถูกนำไปใช้จ่ายหรือแปลงไปเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นหรือมีผู้เกี่ยวข้องรับผลประโยชน์รายใดบ้าง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี.
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน